วันมาฆบูชา ในปี 2564 นี้ ตรงกับ วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ วันมาฆบูชาถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสพักผ่อนและประกอบพิธีทางศาสนาได้อย่างเต็มที่ พรีไซซ ร่วมส่งเสริมวิถีแห่งธรรม เสริมสิริมงคลให้แฟนเพจทุกท่าน ด้วยการพาย้อนไประลึกถึงที่มาของวันมาฆบูชา รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีในวันมาฆบูชาสำหรับชาวพุทธทุกท่านครับ
วันมาฆบูชา เป็นวันแห่งการระลึกถึง วันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาต ในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการคือ
1. พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
2. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ
4. วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)
ส่วนในเรื่องหลักธรรมคำสอนสำคัญ ที่ชาวพุทธควรนำไปปฏิบัติ ก็คือ โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา นำไปสู่ความหลุดพ้น โดยจะประกอบด้วย หลักการ 3 ประการ ดังนี้
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัยความดี
มาต่อกันที่วิธีปฎิบัติตนในวันมาฆบูชากันบ้างครับ
ช่วงเช้า : เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ควรไหว้พระ นั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบหลังจากตื่นนอน และเตรียมทำบุญ ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร หรือไม่ก็จัดหาอาหารคาวหวานไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัดตามความเหมาะสม
ช่วงสาย : เดินทางไปวัดที่อยู่ใกล้บ้าน ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา ทำบุญทำทาน และสมาทานรักษาศีล 5หรือ ศีล 8
ช่วงบ่าย : ฟังพระธรรมเทศนาในวัดที่จัดให้มีพิธีเทศน์ในตอนกลางวัน หรือไปเดินจงกรม นั่งสมาธิชำระล้างความเศร้าหมองตามความสะดวกเหมาะสม
ช่วงเย็น : เตรียมตัวเพื่อเวียนเทียนเป็นพุทธบูชา การเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ จะกระทำ 3 รอบ โดยเวียนไปทางขวา เรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ รอบที่ 1 ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ รอบที่ 2 ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ รอบที่ 3 ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ ในการเดินเวียนเทียน ต้องทำจิตใจให้มีสมาธิ สงบ และแน่วแน่อยู่กับบทบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไม่ควรส่งเสียงพูดคุยหรือเดินแซงผู้ที่เดินอยู่ข้างหน้า เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ในจุดกำหนด เพื่อสะดวกแก่การเก็บทำความสะอาด หลังจากเสร็จพิธีเวียนเทียนแล้ว ควรช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณโบสถ์ให้เรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบอิ่มเอมใจ หรืออยู่ร่วมพิธีอื่นๆ ที่ทางวัดจัดให้มีขึ้นได้ครับ
นี่คือเรื่องราวดีดีที่พรีไซซร่วมส่งเสริมสังคม อย่าลืมไปเวียนเทียนและที่สำคัญ การ์ดอย่าตก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง ก็จะสามารถทำบุญในยุคนิวนอร์มอลได้อย่างปลอดภัย มีสุข ห่างไกลโควิด-19 ครับผม